ข้อจำกัดของการแพทย์ (1)

การที่จะอธิบายให้ใครสักคนเข้าใจข้อจำกัดต่างๆของวิชาชีพแพทย์นั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์และสาธารณสุขอาจมองด้วยความไม่เข้าใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องพูดกันยาวครับ มันเป็นที่มาอย่างหนึ่งของความไม่เข้าใจกันระหว่างแพทย์และคนไข้ซึ่งดูจะมีความไม่เข้าใจกันมากขึ้นทุกที

ในสมัยก่อนเรียนแพทย์ ผมมองว่าวิชาแพทย์นี้เป็นวิชาที่ดีจริงๆ สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้ เรียนไปแล้วจะรู้ว่าคนไข้เป็นโรคอะไร และจะรักษาอย่างไร ใช้ยาแบบไหนถึงจะดีที่สุด ภาพหมอในอุดมคติจะเป็นหมอที่ให้การวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง จ่ายยาหรือรักษาแล้วคนไข้ดีขึ้นทันตาเห็น ไม่มีโรคที่รักษาไม่ได้ ดูๆไปวิชาแพทย์ในอุดมคติเป็นเหมือนวิชาของเทวดาก็ไม่ปาน แต่พอเข้าเรียนแพทย์ เรียนไปเรียนไปก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นครับว่า การแพทย์เรานั้นมีข้อจำกัดอยู่มาก การแพทย์เราก้าวหน้าขึ้นก็จริง แต่มีอีกไม่น้อยเลยที่ต้องพูดว่าเราไม่รู้ เช่น ไม่รู้ว่าโรคนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่รู้ว่าทำไมบางคนถึงมีอาการรุนแรง ไม่รู้ว่าทำไมบางคนถึงรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ไม่รู้ว่าทำไมบางคนตอบสนองต่อยาไม่เหมือนคนอื่นๆ นอกจากความไม่รู้แล้ว วิชาแพทย์ยังมีความเป็นไปได้ที่จะคลาดเคลื่อนหรือไม่ตรงกับตำราสูง

เช่นตำราเขียนไว้ว่า คนเป็นโรคหัวใจขาดเลือดจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงจนทนไม่ได้และต้องมาโรงพยาบาล แต่ในความเป็นจริงมีคนไข้ไม่น้อยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันโดยที่ไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเลย บางคนอาจมาด้วยอาการปวดท้องแทน ทำให้วินิจฉัยได้ยาก ตัวอย่างแบบนี้มีอีกมากครับ อาจารย์แพทย์หลายคนถึงกับบอกว่าไม่มีอะไร 100% ใน medicine ซึ่งผมเห็นด้วยเลยครับ และอยากจะบอกด้วยว่าความไม่แน่นอนในวิชาชีพแพทย์เกิดจากเพราะเราเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่เครื่องจักร

ชีวิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์ มีความลึกลับซับซ้อนมาก และใครก็สร้างเลียนแบบไม่ได้ ผมเคยพูดเล่นๆกับเพื่อนว่า ลองดูนะ มนุษย์เก่งแค่ไหนก็ตาม สามารถสร้างตึกสูงๆ สร้างเครื่องบินลำใหญ่ๆ สร้างยานอวกาศที่ออกไปนอกโลกได้ แต่ไม่สามารถสร้างใบไม้ขึ้นมาได้แม้แต่ใบเดียว และผมก็เชื่อว่ามนุษย์เราเข้าใจการทำงานของเครื่องบินลำใหญ่ๆมากกว่าจะเข้าใจใบไม้เพียงใบเดียว

มนุษย์เรายิ่งซับซ้อนกว่าใบไม้มากนัก เรายังไม่เข้าใจทั้งหมด และเมื่อมันเกิดอาการรวนขึ้นมาด้วยเหตุอะไรก็ตาม การเข้าไปหาสาเหตุรวมถึงการแก้ไขรักษาก็อาจไม่ง่ายนัก เช่นเมื่อคนเราปวดท้องขึ้นมา ก็เกิดได้จากสาเหตุต่างๆมากมาย แพทย์ต้องพยายามวินิจฉัยโรคว่าปวดท้องนั้นเกิดจากอะไร โดยใช้ข้อมูลจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เอ๊กซ์เรย์ ตรวจเลือด ฯลฯ จะเห็นไหมครับว่าหมอต้องพยายามหาสาเหตุเพื่อจะนำไปสู่การรักษา

คิดว่ายากไหมครับ สำหรับการวินิจฉัยว่าปวดท้องเกิดจากอะไร เช่น ปวดจากโรคกระเพาะ ปวดจากลำไส้ ปวดจากไส้ติ่งอักเสบ ถ้าถามผมตอนนี้ผมจะตอบว่าโดยทั่วไปไม่ยากครับ มีหลักการทางการแพทย์มากมายที่จะช่วยผม ตำราก็มีเขียนไว้ว่าการปวดท้องจากโรคต่างๆมีความแตกต่างกันอย่างไร แม้ว่าผมจะให้การวินิจฉัยได้ แต่ผมจะระลึกไว้เสมอว่าการวินิจฉัยของผมนั้นวางอยู่บนความไม่แน่นอน ซึ่งต้องระวังเสมอ เพราะอาจจะไม่ใช่อย่างที่คิดหรือน่าจะเป็น และถ้าคนไข้ไม่เข้าใจก็จะบอกว่าผมวินิจฉัยผิด และอาจจะมาฟ้องร้องได้

ตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้ คือการปวดท้องจากไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งผมจะมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>