คนไข้คือคนไข้ ไม่ใช่ผู้มารับบริการ

ไม่รู้สิครับ เวลาผมได้ยินใครเอ่ยถึงคนไข้ หรือญาติคนไข้ว่าเป็นผู้รับบริการผมจะรู้สึกขัดๆอยู่เสมอ แต่ในบางที่คงเห็นเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะในกระแสสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมทุนนิยม และมีการแข่งขันกันในด้านการตลาดเยอะมาก ลูกค้าหรือผู้มารับบริการต้องมาก่อน ซึ่งถ้าใครสังเกตในหลักการบริหารยุคใหม่ จะเน้นเรื่องนี้ทั้งนั้น โดยจะมีคำพูดสวยหรูเกี่ยวกับการบริการอยู่มากมาย  บอกว่า ต้องเอาผู้มารับบริการเป็นศูนย์กลาง และทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุด หรือบริการให้มากกว่าที่คาดหวัง หรือบางทีก็ใช้พูดเป็นภาษาอังกฤษเลย เช่นบอกว่า เราต้องมี customer focus นะ หรือเราต้องให้ความสำคัญด้าน Service Mind หรือปีนี้เราต้องมุ่งเน้นด้าน CRM (Customer relationship management) เพื่อรักษาฐานลูกค้า  ฯลฯ

หลายๆคนคงเคยได้ยินคำนี้จนเป็นที่ชินหู ผู้บริหารโรงพยาบาลหลายๆคนก็คงเคยเข้าไปเรียนหลักสูตรบริหารมากมาย และนำหลักการต่างๆเหล่านี้มาใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งหลายๆท่านก็นำมาประยุกต์ใช้ได้ดี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในโรงพยาบาล ผู้ป่วยและญาติได้รับในสิ่งที่ดีๆ แต่ก็มีหลายๆโรงพยาบาลนำหลักการเรื่องนี้ไปใช้อย่างเข้มข้น กลายเป็นการตามใจคนไข้/ญาติ มากเกินไป จนบางครั้งกลับมากดดันผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการก็ลำบากใจและไม่มีความสุข

ตรงนี้ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกต และอยากให้ลองคิดว่า การนำหลักการหรือ concept เรื่องการให้บริการมาใช้กับการแพทย์และสาธารณสุขนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสม จริงหรือ

ผมมีความเชื่อ (ซึ่งหลายคนมองว่าสุดโต่งและตกยุคไปแล้ว) ว่าวิชาชีพแพทย์ไม่ใช่อาชีพบริการ เราไม่ควรเรียกคนไข้หรือญาติว่าผู้มารับบริการ เราควรเรียกคนไข้ว่าคนไข้ และแพทย์มีหน้าที่รักษาคนไข้ ด้วยจิตที่เมตตา ไม่หวังผลตอบแทน และรักษาคนไข้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แพทย์ต้องมีจรรยาบรรณ ผมคิดเสมอว่าการเรียกคนไข้ว่าผู้มารับบริการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้หายไป กลายเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการแทน ยิ่งไปกว่านั้นถ้าบางที่เรียกคนไข้หรือญาติว่าลูกค้า แล้วยังไงล่ะครับ จะทำให้หมอหรือพยาบาลก็กลายเป็นพ่อค้าหรือแม่ค้าไป จิตที่เมตตา รักษาผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่เห็นแก่เหน็จแก่เหนื่อยก็จะหายไป กลายเป็นความสัมพันธ์ซึ่งมีเงินเป็นศูนย์กลาง ต้องระวังมากๆครับ

ผมไม่ปฏิเสธว่าการมองว่าคนไข้เป็นผู้รับบริการนั้น จะไม่มีข้อดีเลย แต่เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ผมยังเชื่อโดยสนิทใจครับ ถ้าว่าแพทย์ พยาบาล ผู้บริหารโรงพยาบาลมีใจที่มีเมตตา เป็นผู้ให้ ไม่หวังผลตอบแทน ทุกคนมีจรรยาบรรณของตนเอง ทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้ คนไข้จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ ไม่ควรไปคิดเรื่องเงิน เรื่องค่าตอบแทน หรือผลกำไรในการประกอบกิจการ ฯลฯ

ผมอยากเห็นคุณหมอ ที่เป็นคุณหมอจริงๆ มองคนไข้เป็นคนไข้ที่อยากจะเข้าไปช่วยเหลือเขาให้พ้นทุกข์ พ้นโรคภัยไข้เจ็บ มากกว่าหมอที่มองคนไข้เป็นลูกค้าหรือเป็นผู้มารับบริการ

ผมอยากเห็นคุณครูที่มองลูกศิษย์ เป็นลูกศิษย์ เป็นครูที่มีเมตตาพร้อมจะถ่ายทอดศิลปวิชาการให้ มากกว่าครูที่มองนักเรียนเป็นผู้รับบริการหรือเป็นลูกค้าของตน

1 comment to คนไข้คือคนไข้ ไม่ใช่ผู้มารับบริการ

  • kamon luksuwan

    แต่ต้องบอกว่า โรงพยาบาลปัจจุบัน มีการแข่งขันสูง มากๆ เน้นเรื่องเวลาด้วยคะ คำว่าคนไข้กับผู้รับบริการจึงเหมาะสมเป็นคำๆ เดียวกัน (ด้วยความเห็นส่วนตัวนะคะ)

    เพราะจริงๆ แล้วในยามที่เราป่วย เราก็อยากที่จะเป็นคนไข้ของคุณหมอคะ แต่ด้วยการรักษาหรือการดูแลคนไข้อย่างเราๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว(แต่ยังคงมีบ้าง ซึ่งน้อยมากจริงๆ ที่บริการด้วยใจ) ไม่่ว่าเอกชนหรือรัฐบาล ทุกคนแทบจะผลักไสคนไข้อย่างเรา ดีหน่อยตรงเอกชนเราใช้เงินในการรักษาเค้าก็คงต้อนรับอย่างดี จนเหมาะสมที่จะเป็นผู้รับบริการมากกว่าใช้คำว่า คนไข้

    แต่ในส่วนของรัฐ เราจำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้คำว่า ผู้รับบริการ เพื่อให้พนักงาน แพทย์ พยาบาล ตระหนักที่จะให้บริการเรา มากกว่ามา วางท่ามองว่าคนไข้ นั้นคือตาสี ตาสา จะทำอย่างไรก็ได้ (รู้สึกอย่างนี้ทุกครั้งที่ไป รพ.รัฐ แต่เรื่องดี ก็มีแต่ก็น้อยมากๆ)

    ขอเล่ากรณีศึกษา เจอมาตอนท้องๆ นี่แหละ 4เดือน นั่งรอคิว 4ชั่วโมง เข้าใจ ว่าคือ รพ. คนไข้เยอะ แต่มาไม่เข้าใจตอนได้มานั่งรอหน้าห้อง 30นาที ได้ยินหมอคุยโทรศัพท์เรื่องหุ้นส่วนที่จอดรถ ร้อยล้าน ธุรกิจส่วนตัว. พยาบาลก็น่ารัก เข้าไปสะกิด 4-5รอบ หมอก็ไม่หยุด คนไข้รอเยอะมากๆ แถมไปรักษาเรื่องผิวเป็นผื่น
    - เราไม่รู้ว่าใช่หัดหรือไม่ แค่ถาม มีืผื่นขึ้นที่แขนสองข้างคะ เป็นไรคะ กลัวเป็นหัดคะ ท้องอยู่
    - หมอบอกไม่รู้ น่าจะแพ้นะ จะเจาะเลือดตรวจหัดมั้ย แต่ต้องรอผล 2สัปดาห์ว่าอนุมัติเจาะ
    - ถ้าเป็นหัด ดิฉันกับลูกก็ตายไปแล้วสิคะ
    - หมอบอก เอ้า แล้วแต่คุณ เจาะป่ะ ไม่เจาะ ก็เซ็นต์ตรงนี้ ว่าไม่เจาะ ถ้าเป็นไรผมจะได้ไม่เกี่ยว
    เนี่ยแหละ หมอรัฐบาล มาตรวจแล้วห้ามถาม ห้ามสงสัย

    อย่างเดียวที่ไม่เข้าใจ มันจะยากตรงไหนถ้าจะอธิบายความต่างของการแพ้กับการเป็นหัด ในเมื่อคุณเป็นหมอ เอาเวลาของการรอคอยของคนไข้ไปเป็นชั่วโมง ๆ เป็นวันๆ บอกสิ บอกสักนิด5นาทีก็ได้ ไม่นาน (วันนั้นเป็นวันที่ไร้ค่าอีกวันหนึ่งสำหรับ ดิฉัน)

    สรุปใช้คำว่าผู้รับบริการ ห่างเหินนั่นแหละดีสุดแล้วคะ อย่าสนิดด้วยเลย แพทย์พยาบาลที่หวังดีกับผู้ป่วยนับวันยิ่งน้อยนักทีี่่จะพบพาน

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>