ธรรมะแห่งอาชีพ

ธรรมะแห่งอาชีพดูจะเป็นคำที่ดูหรูไปสักหน่อย และชวนให้เรานึกถึงคุณธรรม/คุณสมบัติที่พึงมีในอาชีพบางอาชีพ เช่น แพทย์ควรจะมีจรรยาแพทย์ ครูก็ควรมีจรรยาหรือคุณธรรมในความเป็นครู ผู้พิพากษาก็ควรมีธรรมะโดยเฉพาะในเรื่องความยุติธรรม ฯลฯ แต่ถ้าคิดดูให้กว้างกว่านั้น ผมเชื่อนะครับว่า ทุกอาชีพควรจะต้องมีธรรมะแห่งอาชีพนั้นๆ  อย่างน้อยที่สุดก็ต้องซื่อตรงต่ออาชีพนั้นๆ ของตนเอง

สังคมในปัจจุบัน มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครสามารถอยู่คนเดียวได้ เราต้องมีการติดต่อและพึ่งอาชีพอื่นๆมากมายในทุกๆวัน เช่น เราไปหาซื้ออะไรกินในตอนเที่ยง เราก็ต้องพึ่งพ่อค้าแม่ค้า เรานั่ง taxi กลับบ้าน ก็ต้องพึ่งคนขับรถ taxi ฯลฯ เราก็คงหวังให้พ่อค้าแม่ค้าไม่โกงเรา ขายของที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม ในทำนองเดียวกับ taxi เราก็คงหวังให้คนขับ ขับไปให้ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ไม่ใช่ขับอ้อมไปอ้อมมา โกงมิเตอร์ หรือมีลูกเล่นต่างๆ  ถ้าทุกอาชีพมีคุณธรรมแห่งตนเราคงสบายใจมากขึ้นในการทำอะไร แต่สองตัวอย่างข้างต้นเป็นตัวอย่างที่ง่ายไม่ซับซ้อน เพราะเรามีความคุณเคยกับสินค้าหรือบริการนั้นๆอยู่แล้ว ถ้ามีอะไรผิดปกติหรือมีการโกงกันเกิดขึ้นเราจะรู้โดยไม่ยากเย็น

แต่ถ้าอาชีพอื่นๆที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะล่ะครับ เราในฐานะคนนอกจะไม่มีทางรู้ได้เลย เช่นเวลารถเราเสียด้วยเหตุอะไรก็ตาม เรารู้แค่ว่ารถเครื่องมีปัญหา หรือแอร์ไม่เย็น หรือมีเสียงผิดปกติ สิ่งที่เราทำได้ก็คือเอารถไปเข้าอู่ เพื่อซ่อม ซึ่งช่างซ่อมรถจะเป็นผู้ช่วยเราในการวิเคราะห์ปัญหาและซ่อมรถ ซึ่งเขาต้องรู้มากกว่าเราอย่างแน่นอน ตรงนี้ก็สำคัญครับ จะเป็นอย่างไรถ้าช่างซ่อมรถไม่มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ของที่ยังไม่เสีย ก็บอกว่าเสีย หรือจริงๆซ่อมง่ายๆก็ทำให้ดูเป็นซ่อมยากๆไว้ จะได้เงินเยอะๆ เราก็ลำบากใช่ไหมครับ

สมัยก่อนผมยังจำได้ มีหลายครั้งเวลาไปธนาคาร จะเห็นพนักงานธนาคารแนะนำคุณลุงคุณป้าแก่ๆที่มาขอเปิดบัญชี ด้วยท่าทีที่เป็นมิตร มีความจริงใจว่า บัญชีไหมเหมาะกับคุณลุงคุณป้ามากกว่ากัน ฝากประจำกี่เดือนดี ฯลฯ ซึ่งพนักงานเหล่านั้นทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ ถือประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันผมรู้สึกว่าเราเห็นภาพนั้นน้อยลง เนื่องจากมีเงินและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เพราะธนาคารมีธุรกิจอื่นอยู่ในเครือด้วย เช่น ประกันภัย กองทุนรวม ฯลฯ ซึ่งพนักงานจะได้เปอร์เซ็นต์เมื่อหาลูกค้าได้ ดังนั้นเมื่อมีคนขอฝากเงิน พนักงานอาจจะแนะนำสิ่งที่ไม่ใช่เงินฝากไปด้วย คือ สัญญาประกันชีวิตหรือกองทุนรวมทั้งหลายแหร่ ตรงนี้ก็ยังไม่เป็นไรครับ ถ้ามีการแนะนำอย่างตรงไปตรงมา อย่าให้ผลประโยชน์เข้ามาทำให้ความบริสุทธิ์ของวิชาชีพเสียไป พนักงานก็ควรบอกตรงๆว่าสิ่งที่กำลังเสนออยู่คืออะไร ไม่ใช่หมกเม็ดในรูปแบบอื่น ซึ่งอาจเข้าข่ายการหลอกลวงลูกค้าไป จริงๆไม่ต้องถึงขนาดหลอกลวงหรอกครับ แค่พูดความจริงไม่ครบก็แย่พออยู่แล้ว ลองนึกดูนะครับ ถ้าคุณลุงคุณป้ามีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่งจะมาขอฝากเงินกับธนาคาร ทำอย่างไรหนาที่คุณลุงคุณป้าสองท่านนี้จะได้สิ่งที่เหมาะสมและดีกับตัวเองจริงๆ ไม่ใช่ดีต่อธนาคารหรือดีต่อพนักงานคนใดคนหนึ่ง สิ่งที่จะช่วยได้คือ ธรรมะแห่งอาชีพ

อาชีพค้าขายก็เช่นกันครับ หลายคนคิดว่ามีความจริงใจได้ยาก เพราะคนขายย่อมอยากจะขายให้ได้ราคาสูงที่สุด หรือมีกำไรมากที่สุด ถ้าขายได้กำไรไม่มากพอก็อยู่ไม่ได้ ก็จริงครับแต่ผมว่าอย่างน้อย พวกเราอยากเห็นการซื้อขายที่ตรงไปตรงมา คนขายมีกำไรตามสมควร ซื่อตรงและไม่มีการหลอกลูกค้า ลองดูนะครับ ของชิ้นหนึ่งราคาไม่กี่บาท ถ้าขายให้คนที่ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ราคา อาจถูกโก่งไปเป็น 10 หรือ 100 เท่า โดยเฉพาะพวกนักท่องเที่ยวไปเที่ยวบ้านเมืองอื่นอาจถูกโก่งราคาได้ง่าย ตัวอย่างที่เห็นชัดอีกอันคือ คือเวลาฝรั่งเรียกตุ๊กๆหรือ taxi อาจถูกโก่งราคา ฝรั่งอาจเสียค่ารถแพงกว่าคนไทยหลายเท่า บางคนมองว่าเป็นโอกาสในการทำกำไร แต่ผมว่ามันเป็นการทำที่ไม่มีความซื่อตรงต่ออาชีพตนเอง

ทุกอาชีพควรจะมีธรรมะของอาชีพนั้นๆ และพยายามยึดถือและประพฤติให้ซื่อตรงต่อหน้าที่ของตนเอง มีคำสอนอันหนึ่งของสมเด็จพระราชบิดาฯที่ใช้เตือนใจในหมู่แพทย์ซึ่งผมคิดว่าสามารถใช้ได้กับทุกอาชีพคือ

ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกแก่ตัวท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>