Refer / Not Refer

 “หมอ ขอไปรักษาต่อในเมือง”, “ลุงไปรักษาในเมืองเถอะ เดี๋ยวหมอจะเขียนใบส่งตัวไปให้นะ”  เป็นคำพูดที่น้องจะต้องได้คุ้นแน่นอนเมื่อน้องเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน รพ.ชุมชนเป็นเพียงโรงพยาบาลประจำอำเภอเล็กๆ โรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค บางโรคต้องการการตรวจเพิ่มเติมหรือการรักษาที่เฉพาะหรือการผ่าตัดที่ยุ่งยาก น้องสามารถจะส่งต่อหรือที่เรียกกันว่า Refer คนไข้ไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า โดยน้องต้องเขียนใบ Refer ซึ่งเป็นใบส่งตัวคนไข้ ซึ่งจะต้องเล่ารายละเอียดและข้อมูลของคนไข้ในความดูแลของน้อง และบอกสาเหตุการ Refer ว่า Refer ด้วยสาเหตุอะไร โดยปกติแล้ว น้องซึ่งเป็นแพทย์จะต้องแยกแยะให้ได้ว่าคนไข้คนไหนหนักหรือต้องการการตรวจเพิ่มเติม จะต้องส่งต่อไปยังจังหวัด คนไข้ไหนที่สามารถรักษาที่โรงพยาบาลเราได้

ทีนี้ก็เมื่อน้องเขียนใบ Refer เสร็จแล้ว ก็ให้คนไข้ถือไปโรงพยาบาลจังหวัด โดยการไปโรงพยาบาลจังหวัดนั้นมีได้ 2-3 ทางใหญ่ๆ คือการให้คนไข้ไปขึ้นรถโดยสารไปเอง หรือให้คนไข้ไปหารถเองเอง หรือใช้รถโรงพยาบาลไป การจะเลือกไปโดยวิธีนี้ก็แล้วแต่สภาพคนไข้ ญาติ และการตัดสินใจของแพทย์ ในรายที่มีอาการหนัก สาหัส ต้องการการส่งตัวไปรักษาทันที น้องสามารถที่จะเรียกใช้รถโรงพยาบาลไปได้ โดยปกติแล้วรถโรงพยาบาลจะมีเตรียมพร้อมตลอด 24 ชม. โดยน้องอาจให้พยาบาลโทรตามคนขับรถ และอาจจะตามพยาบาลเวร Refer ด้วย พยาบาลเวร Refer คือพยาบาลที่อยู่เวร On call ที่จะไปกับรถ Refer เมื่อมี case น้องสามารถจะใช้หรือไม่ใช้พยาบาลก็ได้ ขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้ การใช้รถ Refer โดยทั่วไปคนไข้หรือญาติต้องจ่ายค่ารถ ซึ่งแล้วแต่ระยะทางในการไปส่งคนไข้ และถ้าใช้พยาบาลอีกก็จะเก็บเงินมากขึ้น เพราะพยาบาลจะได้เงินในการ Refer แต่ละครั้ง  ในตอนแรกๆน้องอาจจะยังใช้รถไม่เป็น ไม่รู้จะต้องตามรถตรงไหน หรือไม่แน่ใจว่าต้องใช้รถโรงพยาบาลเลยหรือ รอได้ไหม และต้องใช้พยาบาลนั่งไปกับคนไข้หรือไม่ ก็แล้วแต่การพิจารณาก็แล้วกัน

ใน case ที่มีปัญหา หรือมีโอกาสเกิดปัญหาระหว่างทาง Refer น้องก็ควรจะใช้พยาบาล Refer ติดรถไปด้วย เช่นในกรณี คนไข้ shock หรือเลือดออกมาก หรือคลอดไม่ได้ส่งไป C/S หรือ vital sign ไม่ stable การให้พยาบาลไปด้วยนอกจากจะช่วยดูแลคนไข้ บีบ bag,ปรับ Rate iv, วัด Vital sign, ให้ยาบางอย่างตามความจำเป็น  ยังทำให้คนไข้และญาติรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น ถ้าเกิดคนไข้อาการหนัก แต่ไม่มีพยาบาลไปกับรถด้วย ถ้ากลางทางคนไข้เป็นอะไรไปก็คงลำบากมาก ญาติอาจจะไม่พอใจ

การใช้รถ Refer ก็มี Tactic หลายอย่าง ซึ่งน้องก็คงได้เรียนรู้เอง เช่น ถ้ามีคนไข้ที่ไม่ด่วนมากแต่คิดว่าต้อง Refer แน่ เช่น Refer ไป Scope, ไป investigate, ไปให้เลือด น้องอาจจะรอได้ ให้ refer on call คือรอดูไปก่อน ถ้ามี case ไหนด่วนก็เอา case นี้ไปด้วย เพราะถ้าคนไข้ไป 2 คนก็จะประหยัดการใช้รถ Refer และ คนไข้ก็จะประหยัดเงินค่ารถ ค่ารถ Refer จะออกคนละครึ่งเท่านั้น บางครั้งพี่ Refer ไปพร้อมกันทีเดียว 3-4 คนก็มี หรือในบางครั้ง อาจใช้วิธีฝากไป เช่นมี case refer คนหนึ่งมีรถไปเอง น้องอาจจะขอให้เขารับคนไข้ของน้องอีกคนที่จะ Refer ไปด้วย นั่งติดรถไปด้วยก็ได้ เป็นการช่วยเหลือกันไป แต่ต้องดูตามความเหมาะสมนะ ต้องพิจารณาดีๆว่า คนไข้ไปรถอะไร นั่งไปได้หรือเปล่า รีบมากไหม มีที่แขวน iv หรือเปล่า ญาติเยอะไหม ฯลฯ 

พี่ยังเคยใช้รถ Refer ของโรงพยาบาลใกล้เคียงด้วยซ้ำไป ตอนนั้นพี่อยู่ ER กำลังจะ Refer case fracture ธรรมดา ไม่รีบ พอดีได้ยินเสียงว. จากโรงพยาบาลอื่น ซึ่งกำลังตามรถ Refer พอดี และรถโรงพยาบาลนั้นต้องผ่านโรงพยาบาลพี่อยู่แล้ว ก็แค่บอกให้พยาบาลว.ไปที่โรงพยาบาลนั้นว่า พอที่จะแวะเข้ามารับคนไข้ของพี่ไปอีกคนได้ไหม พอดี case ของเขาไม่รีบมากก็แวะมารับได้ เป็นการช่วยประหยัดได้มาก แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ต้องนึกถึงคนไข้เป็นหลักนะ (เรื่องญาติด้วย) อะไรด่วน อะไรรอได้ ต้องพิจารณาดีๆ อย่าให้พลาด

โดยปกติใน case ที่น้องคิดว่าต้อง Refer ไปแน่นอนมักจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่จะมีปัญหาในพวกที่คนไข้หรือญาติขอไปเอง โดยที่น้องยังคิดว่าสามารถรักษาที่โรงพยาบาลเราได้ พวกนี้มักมีปัญหา ยกตัวอย่างคนไข้บางอย่าง เช่น น้องตรวจแล้วคิดว่าปวดท้องเป็นโรคกระเพาะธรรมดา หรือเป็น URI ธรรมดา แต่ขอให้หมอส่งตัวไปในเมืองรักษา โดยทั่วไปแล้วคนไข้มักจะมาขอใบส่งตัวจากหมอไปก่อน ไม่ได้ไปเอง เนื่องจากว่าถ้าคนไข้ที่มีบัตรสิทธิต่างๆและมีใบส่งตัวจากหมอแล้ว เมื่อไปรักษาในโรงพยาบาลจังหวัดจะไม่เสียเงินค่ารักษา แต่ถ้าคนไข้ที่มีบัตรต่างๆดังกล่าวไปเอง โดยที่ไม่ได้ผ่านโรงพยาบาลชุมชนก่อน ทางโรงพยาบาลจังหวัดจะเรียกเก็บเงิน ดังนั้นคนไข้ที่จะไปจังหวัดมักจะต้องมาขอให้หมอรพช.เขียนใบ Refer เสมอ

คราวนี้ใน case ธรรมดาอย่างที่ว่า ซึ่งน้องคิดว่าไม่น่าส่งไปโรงพยาบาลจังหวัดเลย แต่คนไข้กลับมาขอ ในกรณีเช่นนี้หมอทุกคนมีแนวโน้มอยู่แล้วที่จะไม่ให้ เนื่องจากหมอจะรู้สึกเสีย Self ของตัวเองไป รู้สึกว่าโรคแค่นี้เราก็รักษาได้ ทำไมต้องส่งไปด้วย ไม่อยากเขียนให้ หรือรู้สึกว่าส่งไปได้อย่างไร case อย่างนี้ หมอที่จังหวัดจะได้ว่าให้สิ ในกรณีนี้ ทางออกคืออะไร คงต้องแล้วแต่กรณีไป การพูดคุยทำความเข้าใจให้คนไข้และญาติเข้าใจเป็นหัวใจในการแก้ไขปัญหา ให้เขารู้ว่าโรคแบบนี้ มันไม่ร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องไปไกล รักษาที่นี่ก็ได้ หมอก็เคยอยู๋ที่นั่นมาก่อน รักษาเหมือนกันแหละ ต้อง Reassure คนไข้บ้าง แต่อย่าให้คำรับประกันชนิดร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เพราะใน Medicine ไม่มีอะไร 100 % ควรเปิดทางหนีทีไล่ของตัวเองไว้บ้าง เช่นนอนโรงพยาบาลดูก่อนนะลุง เพิ่งฉีดยาไปวันเดียวเอง เดี๋ยวคงดีขึ้น แต่ถ้าเกิดไม่ดีขึ้นจริงๆเดี๋ยวหมอจะส่งไปเอง แต่จะมีคนไข้อีกประเภทที่ไม่รู้เรื่องดื้อรั้นมาก จะขอไปท่าเดียว ก็แล้วแต่น้องว่าจะเขียนให้หรือไม่เขียนให้ หรือจะให้เซ็นไม่สมัครใจรักษาก็ได้

สำหรับพี่ก็ทำทุกรูปแบบนะ แล้วแต่กรณี ส่วนใหญ่ถ้าไม่น่าเกลียดมากพี่ก็จะเขียนให้นะ ตามใจคนไข้ บางครั้งก็เขียนใบ Refer ให้แต่เขียนว่าส่งเพราะคนไข้ต้องการไป การเขียนว่าคนไข้ต้องการไปเอง โรงพยาบาลที่นั่นจะเก็บเงินคนไข้นะ ต้องพูดให้คนไข้รู้ก่อนว่า ขอหมอไปแบบนี้ต้องไปเสียเงินเองนะ หรือบางครั้งพี่ก็ไม่เขียนให้เลย ให้ไปเอง หรือให้เซ็นออกไปไม่สมัครใจอยู่หรือรักษาที่นี่ก็ได้ เพราะบางครั้งมันก็เหลือเกินจริงๆ บางทีมากลางดึกกลางดื่น ตี 2 มาปลุกหมอ บอกว่าเจ็บท้องคลอด แต่ดูท่าทางยังไม่ In labor ขอไปคลอดในจังหวัด เพราะฝากพิเศษกับหมอ….ไว้ และมาให้เราเขียนใบ Refer ให้ และยังจะขอให้รถโรงพยาบาลเราอีก หรือในบางครั้งเด็กเป็นหวัดธรรมดา เพิ่ง Admit ตอนเช้า แต่ตอนเย็นยังมีไข้อยู่ ก็ขอ Refer ขอรถ ขอพยาบาลด้วย เด็กก็ดูดี บางทีต้องค่อยๆใจเย็นๆคุยนะ ว่ารถโรงพยาบาลปกติมีใว้สำหรับคนไข้ฉุกเฉินเท่านั้น ไม่ใช่รถรับจ้างที่ใครจะเองเงินเท่าไรมาให้แล้วก็ไปได้ พยาบาลก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามีเงินจ้างก็จะจ้างไป หน้าที่ขอรถโรงพยาบาลและพยาบาลก็เพื่อให้คนไข้ฉุกเฉินเท่านั้น ถ้าหมอให้คนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินไป แล้วเวลาที่เกิดมี Case ฉุกเฉินขึ้นมาจริงๆละ หมอจะเอารถที่ไหนส่งไป คนไข้+ญาติฝั่งโน้นก็มาเล่นงานหมอแย่ซิ คนไข้ไม่ด่วนทำไมส่งไปด้วย หมอก็แย่ซิ การพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญมาก

การพูดจาที่ดีนอกจากเนื้อหาต้องฟังดูดีแล้ว น้ำเสียงท่าทางยังเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ศิลปะในการพูดกับคนไข้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหมอต้องติดต่อกับคนไข้ทุกวันอยู่แล้ว วันละไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยคน คนไข้ก็มีทุกรูปแบบ ถ้ายุ่งมากนักก็พักหน่อยนะ Slow Down and Relax !

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>