“หนังสือ” ที่พึ่งยามยาก

 หลายต่อหลายคนอาจนึกถึงหนังสือ ตำรับตำราต่างๆที่เคยร่ำเรียนมาเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาบางอย่าง น้องๆหลายคนเมื่อเจอปัญหาบางอย่างที่ไม่แน่ใจ แต่น้องก็ฉุกคิดได้ว่ามีเรื่องนี้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ แล้วก็สามารถไปเปิดหนังสือดูได้ น้องๆคงรู้สึกโล่งใจมาก สมองคนเราไม่สามารถบรรจุเรื่องราวต่างๆไว้ได้ทุกเรื่อง ทุกๆคนจะต้องมีการลืมบ้างเป็นธรรมดา แต่ความรู้ที่ว่าปัญหาอะไรสามารถเปิดค้นหาได้จากหนังสือเล่มไหน นับว่าเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับหมอในโรงพยาบาลชุมชน ยังเคยมีคนกล่าวไว้ว่า ความรู้มีอยู่ 2 อย่างที่สำคัญคือ รู้จริงๆ และรู้ว่าควรจะหาความรู้ได้ที่ไหน

แม้แต่อัจฉริยะอย่างไอนสไตน์ยังยกย่องความรู้ชนิดนี้ไว้ มีเรื่องเล่ากันว่า มีคนลองภูมิไอนสไตน์ดูซิว่าจะรอบรู้ทุกอย่างจริงหรือไม่ เลยถามคำถามขึ้นว่า คุณรู้ไหมว่าภูเขาไฟฟูจิสูงเท่าไร ไอนสไตน์กลับตอบว่า ทำไมฉันต้องไปสนใจด้วยล่ะว่ามันสูงแค่ไหน ฉันรู้เพียงแค่ ถ้าฉันอยากรู้ว่ามันสูงเท่าไร ฉันจะหาความรู้นี้ได้ที่ไหน ก็พอแล้วนี่

อย่าลืมนะครับว่า หนังสือเป็นเพื่อนที่ดีมากของเรา มันไม่มีการดูถูกน้องๆว่าเรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้ สามารถเปิดแอบดูได้เงียบๆ ไม่มีใครรู้ว่าน้องไม่รู้เรื่องอะไร มันเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์มาก แต่ต้องระวังนะ น้องไม่สามารถพกหนังสือ Text เล่มโตๆ ไปได้ทุกที่แน่นอน และอีกอย่างหนึ่งการคบเพื่อนเช่นนี้ อาจทำให้ภาพพจน์ความเป็นหมอของน้องด้อยลงไปได้ ทำให้มาดไม่ดีนั่นเอง ลองคิดดูก็ได้ ถ้าวันไหนน้องมาออกตรวจ OPD น้องพกหนังสือเดินมาจากบ้านพักตั้งหลายเล่ม ว่าแล้วเวลามี case น้องก็เปิดเอาๆ การเปิดหนังสือบ่อยๆหรือไม่ถูกกาละเทศะ จะทำให้มาดน้องเสียลงไป ทั้งจากสายตาคนไข้และสายตาเพื่อนร่วมงาน “มาด” เป็นสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในโรงพยาบาลชุมชน การเปิดหนังสือบางครั้งต้องมีเทคนิคเหมือนกัน ว่าทำอย่างไรไม่ให้น่าเกลียด เช่นแอบไปเปิดในห้องพักแพทย์ หรือเปิดจากโน้ตย่อสั้นๆก็ได้

เรื่องโน้ตย่อก็เป็นสิ่งสำคัญ น้องๆคงจำสมุดเล็กๆที่น้องใช้จดเวลาตาม round พี่ๆที่วอร์ดตอนที่อยู่โรงเรียนแพทย์ได้ น้องจะใช้จดความรู้ต่างๆที่ได้จากคนไข้ เพื่อน อาจารย์ พี่เด้นท์ ฯลฯ พอน้องออกมาทำงานจริงๆ บางครั้งน้องจะมีแต่ความรู้ในเชิงหลักการ แต่ไม่รู้ Practical point ต่างๆ เช่นรู้ว่าจะให้ยาอะไร แต่ไม่รู้ว่าต้องให้ขนาดเท่าไร และเป็นยาเม็ดละกี่ mg กันแน่ สั่งไม่ถูก ยิ่งเป็นพวกยาที่ต้องฉีดหรือต้อง drip จะยิ่งยุ่งใหญ่ บางครั้งน้องรู้เพียงว่าต้องให้ยา Terbutaline iv drip แต่น้องไม่รู้ว่าจะผสมเท่าไร ผสมในอะไร และให้ Rate เท่าไร

เหล่านี้เป็นปัญหาที่น้องๆต้องเจอแน่นอน และอาจทำให้น้องสับสนบ้างในช่วงแรกๆ เพราะถ้าไปเปิดดูตาม standard text book ต่างๆ อาจได้คำตอบที่ไม่ตรงไปตรงมา เช่น ยา X ต้องผสมและ drip ในอัตราเร็ว Y mg/kg/min ซึ่งน้องก็ต้องมานั่งคิดอีกว่าจะผสมใช้ยากี่ mg ในน้ำกี่ cc ได้ความเข้มข้นเท่าไร และคนไข้หนักกี่กิโลกรัม จะต้องแปลงออกมาว่าจะต้อง drip กี่ cc/hr คำนวนหลายขั้นเหมือนกัน แต่เมื่อน้องมีประสบการณ์มากขึ้นในการสั่งยา อาจจะจดเป็นสูตรสำเร็จเลยก็ได้ ซึ่งมักจะจดในสมุดโน้ต ซึ่งแพทย์จบใหม่หลายๆคนจะมีสมุดที่จดความรู้ต่างๆในทาง Practical point ไว้มากมาย สมุดเหล่านี้มีค่ามากในเวลาที่ต้องใช้จริงๆ เช่นอาจบันทึก dose ยาต่างๆไว้ บันทึก landmark ของหัตถการต่างๆที่สำคัญ บันทึกสูตรหรือตารางบางอย่างที่ใช้บ่อย ฯลฯ พอนานวันเข้าน้องๆจะเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้นและจะเก่งขึ้นโดยลำดับ

2 comments to “หนังสือ” ที่พึ่งยามยาก

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>