หลักทั่วไปในการออกใบรับรองแพทย์ ภาค 1

 ดังที่พี่บอกให้ฟังแล้วนะว่าใบรับรองแพทย์ เป็นเอกสารสำคัญ สามารถใช้ยืนยันหรือใช้เป็นหลักฐานในหลายๆเรื่องได้ ดังนั้นน้องต้องรอบคอบในการเขียนใบรับรองแพทย์ให้ดี เพราะใบรับรองแพทย์นั้นเองสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันความผิดของน้องก็ได้ ซึ่งก็เคยมีแพทย์ต้องติดคุกเพราะใบรับรองแพทย์มาแล้วนะ ไม่ว่าจะเป็นใบรับรองแพทย์หรือ หนังสือหรือเอกสารใดๆก็ตามที่มีการลงลายมือชื่อของน้อง น้องต้องตั้งใจอ่านให้ดี และเขียนด้วยความตั้งใจ เพราะถือเป็นหลักฐานอย่างดีที่ยืนยัน หลักทั่วไปที่พี่อยากจะบอกในการออกใบรับรองแพทย์คือ

            1 ห้ามออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จ เป็นหลักการข้อแรกเลยนะ ความจริงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ควรจะรับรองอะไรที่เป็นเท็จ การออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จมีความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง นอกจากนี้ยังมีความผิดในทางจริยธรรมอีกด้วย อาจจะถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการจริยธรรมของแพทยสภาได้ การออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จมีหลายๆกรณี มีทั้งกรณีที่หมอจงใจกรอกข้อความอันเป็นเท็จว่าเขาเป็นโรคนั้น โรคนี้ ไม่ได้เป็นโรคนั้นโรคนี้ หรือในกรณีที่หมอรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นการออกใบรับรองแพทย์สุขภาพดีให้กับคนอื่นซึ่งมาขอแทน โดยที่เจ้าตัวไม่ได้มา เช่นพ่อมาตรวจโรคและมาขอใบรับรองแพทย์ให้ลูกบอกว่าจะเอาไปทำใบขับขี่ ลูกก็ไม่ได้มา ถ้าหมอออกไป แล้วลูกเกิดเป็นคนวิกลจริตหรือเป็นคนพิการ ก็เท่ากับเป็นการออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จ ขอให้ระวังไว้

           2 ถามจุดประสงค์ของผู้ที่เอาไปใช้เสมอ ทุกครั้งนะครับไม่ว่าใครจะมาขอใบรับรองแพทย์อะไรก็ตาม ควรจะถามเสมอว่าเอาไปใช้ทำอะไร ถามให้ละเอียดนิดหนึ่ง เช่นเอาไปสมัครทำงาน อาจจะถามต่อว่าไปสมัครทำงานอะไร ตำแหน่งอะไร หรือถ้าขอไปลาหยุดงาน ถามสักนิดว่าทำงานอะไร การถามจุดประสงค์ที่จะนำไปใช้แบบนี้จะช่วยน้องได้มากในการพิจารณา และต้องระวังไว้นิดหนึ่งนะครับว่า คำพูดที่บอกออกมาอาจจะเชื่อไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในคนที่มีเจตนาไม่ดี อย่างไรก็ดีเมื่อเราถามเขาแล้วว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรอย่าลืมบันทึกลงไปใน OPD card ด้วยนะ จะได้เป็นหลักฐานช่วยน้องเอง เผื่อเวลาเขาเอาไปใช้ในเรื่องที่ไม่ตรงกับที่บอกเรา

           3 ไม่มีใครบังคับให้น้องออกใบรับรองแพทย์ได้ จำไว้นิดหนึ่งนะครับว่า ไม่มีกฎหมายข้อไหนบังคับไว้ว่าน้องต้องออกใบรับรองแพทย์ให้คนที่มาขอ ไม่มีระบุไว้เลย มีอยู่ใบเดียวเท่านั้นที่หมอต้องเขียน เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ก็คือ ใบชันสูตรบาดแผล หรือใบชันสูตรศพ ที่ตำรวจส่งมาให้ตรวจ ในกรณีนี้หมอต้องออกให้ ส่วนในกรณีอื่น หมอไม่ต้องออกให้ก็ได้ หมอมีสิทธิเต็มที่ในการเขียน ไม่ต้องเขียนตามที่คนไข้หรือญาติต้องการ ถ้าน้องคิดว่าเขาต้องหยุดพักกี่วันก็เขียนไปตามนั้น พยายามอย่าใจอ่อน ไม่ใช่เป็นนิดเป็นหน่อยแล้วมาขอหยุดเป็นเดือน น้องต้องเขียนไปตามความจริงนะ หรือถ้าน้องรู้ว่าเขามาขอด้วยเหตุผลไม่ดี หรือ ขอไปใช้ในทางที่ผิดน้องก็ไม่ออกให้ได้ เช่น บางครั้งเวลาเข้าทำประกันชีวิต บริษัทประกันอาจจะออกแบบฟอร์มมาให้กรอกยาว อาจต้องมีการตรวจพิเศษบางอย่าง ถ้าเรารู้ว่าคนไข้มีโรคประจำตัวเราก็ต้องเขียนลงไปด้วย ถ้าเขาถาม การไม่เขียนถือว่าเป็นการจงใจปกปิด แม้ว่าคนไข้หรือญาติจะขอร้องอย่างไรก็ตาม เราต้องถือความถูกต้องเป็นหลัก ถ้างอแงมากอาจจะไม่ออกให้เลยก็ได้ น้องต้องมั่นใจว่าตัวเองทำในสิ่งที่ถูกต้อง เชื่อมั่นในความถูกต้องนั้น

          4 ห้ามออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังเป็นอันขาด ไม่ว่าในกรณีใดๆ เพราะในใบรับรองแพทย์จะมีระบุวันที่ไว้เสมอ การจะออกว่ามาตรวจในวันนั้นวันนี้ย้อนหลงเป็นข้อห้ามเด็ดขาด หรือว่าออกว่ามานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้นกว่าที่ Admit จริงก็ไม่ได้นะ ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านมักจะมาขอร้องเสมอ ตัวอย่างง่ายๆเช่น ชายคนหนึ่งเข้ามาหาหมอบอกว่าขอใบรับรองแพทย์ ว่าสุขภาพดี โดยขอร้องให้หมอออกใบรับรองแพทย์ลงวันที่เมื่อวานนี้ เนื่องจากเมื่อวานเขาไปสมัครทำงานในบริษัทหรือสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง และเป็นวันสุดท้ายที่ปิดรับสมัคร เขายังไม่ได้ไปขอใบรับรองแพทย์ก่อน เขาไปขอร้องเจ้าหน้าที่ว่าขอให้รับสมัครไปก่อน แล้วจะเอาใบรับรองแพทย์มาให้พรุ่งนี้ หรืออ้างว่าลืมเอาใบรับรองแพทย์มา อยู่ที่บ้านไว้พรุ่งนี้จะเอามาให้ แล้ววันนี้เจ้าตัวก็มาขอใบรับรองแพทย์กับหมอให้ออกว่าสุขภาพดี แต่ลงวันที่เมื่อวานนี้ ฟังดูไม่น่ามีอะไรใช่ไหม แต่อย่าใจอ่อนกับเหตุผลใดๆที่เขายกมาอ้าง เนื่องจากเหตุการณ์ที่เขาเล่าเกิดขึ้นจริงหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ สมมุติว่าเมื่อวานนี้เขาไม่ได้ไปสมัครหรอก เขาไปก่อคดีอาชญากรรมฆ่าคนตายที่ยะลา แล้วหนีมาที่จังหวัดเราสมมุติว่าเป็นเชียงใหม่ เขาอาจจะใช้ใบรับรองแพทย์ของเราในการยืนยันในถิ่นที่อยู่ได้ ว่าเมื่อวานนี้เขามาตรวจต่อหน้าหมอที่โรงพยาบาลนี้ ที่เชียงใหม่ ไม่ได้ไปอยู่ที่ยะลาหรอก เห็นไหมว่าใบรับรองแพทย์ของเราอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือได้ และถ้าเกิดสืบสาวราวเรื่องไปได้ว่า หมอออกใบรับรองแพทย์อันเป็นเท็จให้ หมอก็มีหวังติดร่างแหไปด้วยแน่นอน วันที่ที่หมอตรวจและวันที่ที่หมอออกใบรับรองแพทย์ให้เป็นสิ่งสำคัญ ต้องเป็นความจริงเสมอ

          5 ห้ามออกใบรับรองแพทย์โดยไม่ได้ตรวจคนไข้ บางครั้งญาติหรือบุคคลอื่นอาจมาขอใบรับรองแพทย์แทน เช่นขอไปสมัครเรียน ขอไปสมัครงาน โดยที่เจ้าตัวไม่ได้มา ในกรณีนี้ก็ไม่ควรออกให้ เพราะเราไม่ได้ตรวจเขา เราจะไปรับรองได้อย่างไรว่าเขาสุขภาพดี อีกอย่างหนึ่งถ้าเราออกไปเท่ากับเรารับรองว่าเราตรวจเขาจริงที่โรงพยาบาล ในวันนี้ แล้ววันนี้ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน เรารู้ไหมล่ะ เขาอาจจะหนีงาน กำลังก่อคดีอะไรอยู่เราก็ไม่รู้ อย่าเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงด้วยดีกว่า ต้องยืนยันให้เจ้าตัวที่จะขอใบรับรองแพทย์มาพบหมอด้วยตัวเองหรือถ้าจำเป็นจริงๆและน้องคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรก็สามารถออกให้ได้ แต่ต้องมีวิธีป้องกันตัวเองนะ เช่นเด็กชายมานอกเวลาราชการในเวรน้อง แต่เพียงแค่หกล้ม มีแผลถลอกที่หัวเข่าเท่านั้นเอง และมารดามาขอใบรับรองแพทย์เอาไปเบิกค่ารักษาว่ามารักษาจริง ถ้าเด็กไม่ได้มา น้องอาจออกใบรับรองแพทย์ไปได้ แต่ต้องขีดฆ่าว่าน้องได้ทำการตรวจคนไข้ เมื่อไร เวลาใดไปนะ เพราะเราไม่ได้ตรวจจริงๆ แต่พยาบาลตรวจ และอาจให้ความเห็นไปว่า ได้มีประวัติในเวชระเบียนว่ามารักษาจริงที่รพ….ในวันที่…. เห็นไหม เราไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง เราแต่รับรองว่ามีประวัติจริงใน OPD card ว่า คนไข้มาตรวจที่รพ.เท่านั้น

 

3 comments to หลักทั่วไปในการออกใบรับรองแพทย์ ภาค 1

  • vanderlhing

    ขอบคุณนะคะที่เขียนบทความนี้ ^^

  • ทินกร

    หมอ ออกใบแพทย์ 2 ฉบับ จากการตรวจครั้งเดียว แต่ระบุอาการบาดเจ็บต่างกัน หมอควรทำไม๊ครับ เช่น ฉบับแรกบอกเป็นอุบัติเหตุ ฉบับที่บอกถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งทั้งสองครั้งก็ออกตามที่คนป่วยบอก

    • InMyMind

      ไม่ควรทำหรอกครับ การออกใบรับรองแพทย์ 2 ใบ ในเหตุการณ์เดียวกัน แต่ 2 ใบขัดกันโดยสิ้นเชิง จะทำให้ใบรับรองแพทย์ของเราดูไม่มีน้ำหนัก และไม่น่าเชื่อถือเอง เพราะใบรับรองแพทย์จริงๆเป็นความเห็นรวมถึงวิจารณญานของแพทย์ด้วย

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>