ความรู้หดหายหมด ในรพช.!

บางครั้งน้องๆคงเคยได้ยินพี่ๆที่รพช.บ่นว่า อยู่ที่บ้านนอกนานๆแล้ว ความรู้หดหายหมด พี่ๆมักจะพูดว่า ที่นี่มีแต่ case ง่ายๆ ส่วนใน case ที่ยากๆส่วนใหญ่ เราก็ทำอะไรไม่ค่อยได้ ต้อง Refer หมด เลยไม่มีโอกาสได้ดู case ต่อ โรงเรียนแพทย์นั้นที่เราเพิ่งได้เรียนจบกันมา เป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ แต่มักจะเป็นแหล่งรวมของ Case ที่ยากๆ ที่มีปัญหา และพบค่อนข้างน้อยในเวชปฏิบัติทั่วไป แต่เนื่องจากโรงเรียนแพทย์นั้นนับว่าเป็น Medical Center สามารถดูแล Tertiary care ได้ จึงเป็นแหล่งรับ Refer case ยากๆมาเสมอ แต่น้องต้องอย่าลืมว่า Incidence จริงๆของโรคที่เจอในโรงเรียนแพทย์นั้นไม่มากหรอก

ยกตัวอย่างเช่นคนไข้ใน Ward med ที่โรงเรียนแพทย์ อาจจะมี case พวก SLE, Vulvular heart disease, leukemia, UGIH, Septic shock, DKA, Hypertensive crisis, Endocarditis, Acute MI, unstable angina etc ซึ่ง case ต่างๆเหล่านี้น้องจะพบว่า เจอได้น้อยมากหรือแทบไม่เจอเลยในโรงพยาบาลชุมชน อย่างที่เราเห็น case DKA, SLE กันบ่อยๆที่โรงเรียนแพทย์ แต่เท่าที่พี่ทำงานมายังไม่เห็น case เหล่านี้ในโรงพยาบาลชุมชนเลย เพราะ case ส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลชุมชนจะเป็นพวก URI, Ac diarrhea, dizziness, senility, minor trauma, CHF มากกว่า ความรู้ ความสามารถในการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการวิเคราะห์หา Differential diagnosis เป็นสิ่งสำคัญในการ Round ที่โรงเรียนแพทย์ แต่บางครั้งใน โรงพยาบาลชุมชนอาจต้องการ Doctor-patient relationship การรักษาที่มีประสิทธิภาพ การพยากรณ์โรคที่แม่นยำมากกว่า

ความรู้เป็นสิ่งที่จะค่อยๆเลือนรางไปตามเวลาถ้าเราไม่ได้ใช้อยู่บ่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วในโรงพยาบาลชุมชน ความรู้ในทางลึกที่เรารู้มาในโรงเรียนแพทย์จะค่อยๆหายไป เพราะเราไม่ได้เจอคนไข้ ไม่ได้นำมาใช้ มันย่อมหายไปได้ ยกตัวอย่างเช่น คนไข้มาด้วย Chest pain มาที่โรงพยาบาลชุมชน น้องซักประวัติ ดู Risk factor แล้วน่าจะเป็น Typical cardiac chest pain และ EKG ดันมี ST-elevation ที่ Lead II,III,aVF น้องสงสัย Acute myocardial infarction น้องให้การรักษาเบื้องตันไปตาม line of management คือ Oxygen, aspirin, Mo, iv line etc. แล้วก็ Refer คนไข้ แม้ว่าเราจะรู้ว่าต้องรักษาอย่างไรต่อไป ที่รพช. ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีบุคคลากรในการดูแลได้ จำเป็นต้อง Refer คนไข้ ความรู้ของน้องในการรักษาต่อไปก็จะลดน้อยลง เพราะน้องไม่ได้ดูแลต่อ ไม่ได้ตามคนไข้ นานๆเข้าน้องก็จะลืม Indication ของ thrombolytic agent, ลืม dose ของ Streptokinase, หรือลืมการแปลผล Cardiac enzyme ซึ่งพี่ว่าก็ไม่แปลก เพราะเราไม่มี Lab ให้ดูนี่ นานๆเข้าเราก็แปลไม่เป็น

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนเมื่อน้องไปอยู่รพช. น้องจะรู้สึกว่าน้องมีความรู้ที่จะรักษาต่อได้ หรือรู้แนวทางการรักษาต่อไป แต่น้องทำคนเดียวไม่ได้ที่รพช. จึงจำใจต้อง Refer ความรู้ก็จะมาจบตรงที่น้องรักษาเบื้องต้นได้ และก็จบลงตรงนั้น เพราะน้องไม่ได้ทำต่อ คราวนี้แนวทางที่ดีในการป้องกันการที่ความรู้น้องจะด้อยลงเพราะไม่ได้ใช้จะมีวิธีอะไรบ้าง วิธีที่ดีอย่างหนึ่ง ก็คือการตามคนไข้ การติดตามคนไข้ต่อไปที่โรงพยาบาลที่น้อง Refer ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยนี้ น้องต้องไปทำงานในโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ในปีแรกอยู่แล้ว น้องก็จะรู้วิธีติดต่อ หรือรู้จักพี่ รู้จักเพื่อนๆมากขึ้น ทำให้เมื่อน้องไปอยู่รพช. และต้อง Refer case เข้ามา น้องอาจใช้วิธีโทรมาถามผล หรือกลับมาดูคนไข้ต่อเองถ้าน้องว่างมาที่รพท.,รพศ. หรืออาจจะใช้วิธีตามใบ Refer กลับมาก็ได้ ซึ่งทุกๆวิธี จะทำให้น้องได้เรียนรู้ case ต่อเนื่อง ได้รู้ว่าสิ่งที่น้องคิดไว้ เป็นไปตามนั้นหรือไม่ เป็นการเพิ่มพูนความรู้อย่างหนึ่ง

การเข้าร่วมการอบรม สัมมนา หรือประชุมวิชาการต่างๆที่มีหน่วยงานอื่นๆจัดขึ้น นับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มพูนความรู้ได้ และยังเป็นการทำให้ความรู้เรา Update ยิ่งขึ้น โดยปกติแล้ว กิจกรรมการอบรมต่างๆมักจะจัดขึ้นที่ โรงเรียนแพทย์หรือโรงพยาบาลศูนย์ โดยอาจจัดเป็นการอบรมระยะสั้น 3-5 วัน ซึ่งโดยทั่วไปจะมีจดหมายแจ้งมายังโรงพยาบาล และจะมีรายระเอียดแนบมาอยู่ด้วยว่า จัดที่ไหน วันที่เท่าไร กี่วัน ต้องการกี่คน เนื้อหาการอบรมคืออะไร มีใครมาเป็นวิทยากรบ้าง พักที่ไหน และค่าใช้จ่ายเท่าไร ทั้งค่าลงทะเบียนและค่าที่พัก  ถ้าน้องๆสนใจก็ลองไปคุยกับพี่ผู้อำนวยการดู ซึ่งจะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของน้อง ซึ่งอาจจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้น้องไป โดยปกติแล้วถ้าเป็นเรื่องน่าสนใจและโรงพยาบาลไม่ขาดแคลนหมอมากนัก พี่ๆเขาก็มักจะอนุมัติให้น้องไปได้ และการไปอบรมของน้องนี้ โดยส่วนใหญ่จะไม่ถือว่าเป็นวันลา ถือว่าไปราชการ และน้องยังมีสิทธิพิเศษอีกหลายอย่างคือ น้องไม่ต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเอง สามารถเบิกจ่ายได้ และสามารถเบิกค่าที่พัก เบิกค่าเดินทางได้ และเมื่อน้องกลับมาต้องมีการเขียนรายงานการเดินทางไปอบรมด้วย ซึ่งจะเป็นเอกสารแนบเพื่อให้น้องสามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆได้ รายละเอียดในเรื่องนี้มีค่อนข้างมาก น้องอาจจะลองถามผ.อ.ดูหรือคุยกับพี่การเงินดูก็ได้

การไปอบรมแบบนี้พี่ว่าเป็นการดีนะ น้องน่าจะลองเลือกรายการที่น้องสนใจจริงๆแล้วขอผ.อ.ไป แต่ละโรงพยาบาลจะไม่เหมือนกัน บางโรงพยาบาลอาจจะมีโควต้าให้น้องไปได้ปีละ 2-3 ครั้ง บางโรงพยาบาลอาจไม่ได้จำกัดขึ้นอยู่กับผ.อ.เป็นต้น น้องก็ควรจะนึกถึงใจเขาใจเราด้วย เพราะถ้าน้องไปอบรมหลายๆวัน หมอที่โรงพยาบาลก็จะขาดไปหนึ่งคน งานก็จะมา Load กับหมอคนอื่น ซึ่งก็ไม่ดีเท่าไร และยิ่งถ้าหมอเกิดไปประชุมพร้อมๆกัน 2-3 คน คนที่เหลือต้องทำงานหนักตายเลยซิ คงต้องคุยตกลงกันก่อนในหมู่แพทย์ว่า ใครจะลาในช่วงไหน ใครจะอบรมในช่วงไหน ถ้าเราเคยไปมาแล้วก็น่าจะลองเปิดโอกาสให้คนอื่นไปบ้าง ไม่ใช้เอะอะอะไรก็จะขอไปๆ ท่าเดียว งานที่โรงพยาบาลจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ก็ไม่ได้นะ

มีอีกวิธีหนึ่งในการเพิ่มพูนความรู้ ซึ่งไม่ต้องอาศัยทรัพยากรอะไรมาก แต่ต้องใช้ความอดทนน ความตั้งใจจริงนั่น ก็คือ การศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทางหนังสือ ทาง internet การคุยกับเพื่อนๆหมอ หรือพี่ๆหมอที่อยู่ที่ รพช.ก็ได้ อาจมีการคุยวิชาการในหมู่แพทย์ประจำเดือนก็ได้ ซึ่งจะทำให้มีการเรียนรู้มากขึ้น ความรู้ไม่หดหายไปเร็วนัก ซึ่งกการศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองนี้ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าน้องไม่ทำแล้วใครจะทำ ถ้าน้องไม่สนใจอ่านหรือค้นคว้าหาความรู้น้องก็จะไม่มีความรู้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว โดยเฉพาะน้องคนไหนที่อยากจะกลับมาเรียนต่อ การศึกษาหาความรู้ในช่วงการเป็นแพทย์ใช้ทุนเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะเดี๋ยวนี้การแข่งขันสูงขึ้น ความก้าวหน้าในวงการแพทย์มีมากอยู่ทุกวัน ถ้าน้องปล่อยเวลาให้ผ่านไปวันๆ น้องจะไปสู้กับคนอื่นได้หรือ เวลาสมัครหรือสอบ Board ก็จะยากยิ่ง อย่าลืมนะครับว่า โอกาสเป็นสิ่งที่เราสร้างเองได้ ถ้าเราอยากมาเรียนต่อในสาขาใดก็ตาม ทำไมเราไม่เรียนด้วยตัวเองไปก่อนละ จะได้ก้าวหน้านำเพื่อนๆไป ผู้ชนะมักจะทำงานในขณะที่ผู้อื่นกำลังหลับไหล

1 comment to ความรู้หดหายหมด ในรพช.!

  • Praew Montree

    ผู้ชนะมักจะทำงานในขณะที่ผู้อื่น กำลังหลับไหล…
    ประโยคนี้ให้กำลังใจดีมากๆ ค่ะ

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>