มาดหมอใหญ่นอกโรงพยาบาล

อ่านมาหลายบทแล้ว น้องคงยังไม่เบื่อนะ เรื่องราวของหมอในโรงพยาบาลชุมชน ยังมีอีกมากที่น่าสนใจ เพราะเป็นช่วงชีวิตที่น้องจะได้รับประสบการณ์อะไรเยอะมาก ประกอบกับน้องพึ่งจะจบการศึกษา ออกมาทำงานเป็นครั้งแรก ต้องห่างจากพ่อแม่ผู้ปกครอง มาดำเนินชีวิตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว เชื่อว่าน้องๆทุกคนที่ผ่านชีวิตการเป็นแพทย์ใช้ทุนจะมีเรื่องเล่าสนุกๆมากมาย เหมือนกับช่วงชีวิตที่เป็นนศพ. เป็น Extern ถ้าน้องๆคนไหนสนใจในเรื่องการขีดๆเขียนๆ ก็ลองบันทึกประสบการณ์ต่างๆในช่วงนี้ดูนะ ไว้ตอนแก่ๆมาอ่านดูจะสนุกมากเลย และอาจเก็บไปเป็นวัตถุดิบในการเล่าให้ลูกๆหลานๆฟังก็ได้ (แต่เล่าแล้วเขาจะสนใจฟังหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ)

วันนี้พี่จะเล่าให้ฟังถึงชีวิตของหมอใหญ่นอกเวลางาน ปกติแล้วแพทย์จะทำงานเหมือนข้าราชการทั่วไปคือเข้างาน 8โมงครึ่ง เลิกงาน 4 โมงครึ่งตอนเย็น ถ้าน้องไม่ได้เป็นเวรก็จะว่างตั้งแต่4โมงครึ่งแล้วล่ะ เวลาที่เหลือก็เป็นเวลาพักผ่อนของน้องๆ จะเห็นว่าเวลาว่างของน้องค่อนข้างจะมีมาก ทีนี้ก็แล้วแต่แต่ละคนนะว่าจะใช้เวลาที่เหลือทำอะไร ถ้าน้องสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้ดี เท่ากับน้องเตรียมการไปสู่อนาคตได้ดีเช่นกัน เช่นน้องบางคนตั้งจะจะเรียนต่อเป็นหมอเฉพาะทางด้านต่างๆ ถ้าน้องได้ศึกษาหาความรู้ในช่วงเป็นแพทย์ใช้ทุน อ่านหนังสือ Harrison, Scwartz, Nelson ฯลฯ ถ้าอ่านได้มากก็จะไปไกลกว่าเพื่อนๆนะ มีความรู้อยู่กับตัวมากขึ้น หรือถ้าน้องอยากทำงานสายบริหาร อาจจะใช้เวลาที่เป็นแพทย์ใช้ทุนศึกษางานในโรงพยาบาล ศึกษาหน่วยต่างๆในโรงพยาบาล เข้าประชุมต่างๆในโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ให้แก่น้องได้มากเช่นกัน

ชีวิตของน้องไม่ได้มีเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น น้องต้องออกไปนอกโรงพยาบาลบ้าง อย่างน้อยก็เวลาไปกินข้าวเย็น หรือไปจ่ายตลาด แต่ในสังคมชนบท น้องจะพกคำว่าหมอใหญ่ติดตัวน้องไปตลอด เพราะเมืองมันแคบ ไม่เหมือนในกรุงเทพมหานคร หรือในเมืองใหญ่ๆ เมื่อก่อนพวกเราอาจจะออกจากเวรตอนเป็น Extern เสร็จ ก็ไปเที่ยวห้างเดินห้างตามประสาวัยรุ่น ไปเล่นเกมตู้บ้าง เดินเฮฮากับเพื่อนฝูง ไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นนศพ. หรือเป็นหมอ แต่ในสังคมชนบทชาวบ้านเข้าจะรู้แน่นอนว่าน้องเป็นหมอ ความเป็นหมอน้องไม่สามารถถอดวางไว้ที่โรงพยาบาลได้ อำเภอเล็กๆส่วนใหญ่ในชนบทจะมีตลาดหรือแหล่งชุมชนเพียงที่เดียว ร้านกินข้าวก็มีเพียงไม่กี่ร้าน

น้องอาจจะแปลกใจเมื่อเวลาไปซื้อของแล้วมีใครยกมือไหว้ และเรียกน้องว่าหมอ น้องๆอาจรู้สึกเหมือนเป็นดารามีใครต่อใครมาทักหรือรู้จักเต็มไปหมด ดังนั้นมาดหรือการวางตัวเป็นสิ่งที่สำคัญ น้องไม่อาจทำตัวได้ตามสบายเหมือนในเมืองใหญ่ๆ การกระทำบางอย่างอาจจะต้องหลีกเลี่ยงเพื่อภาพพจน์ที่ดี ภาพพจน์ที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ชาวบ้านจะเชื่อใจหรือให้ความเคารพนับถือน้องก็ขึ้นอยู่กับการวางตัวของน้อง น้องอาจต้องเลี่ยงการซื้อหนังสือการ์ตูนอ่าน หรือเลี่ยงการเดินกินไอติม หรืออะไรอีกหลายๆอย่าง บางครั้งน้องอาจรู้สึกอึดอัด แต่น้องก็จะรู้เองว่าความนับถือของคนไข้ต่อหมอเป็นสิ่งสำคัญมาก ยิ่งสังคมชนบทเป็นสังคมแคบ เวลามีใครทำอะไรจะรู้กันเร็ว และพูดกันปากต่อปาก หมอที่คนไข้ไม่นับถือแล้วจะอยู่ในสังคมได้ยาก บางครั้งรุนแรงมากดังที่น้องอาจเคยได้ยินข่าวว่า หมอบางคนต้องขอย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ก็มี หรือแม้กระทั่งถูกชาวบ้านเดินขบวนประท้วงก็มี

ตรงกันข้ามถ้าน้องมีภาพพจน์ที่ดี พูดจากับคนไข้ดีๆ ชาวบ้านเขาจะให้ความเคารพนับถือเรามากน้องเดินไปไหนมาไหน ก็จะมีแต่คนยกมือไหว้ เอาของอะไรมาให้ พูดจาดีๆต่อเรา หรือบางครั้งซื้อของอะไรเขาอาจจะแถมให้เป็นพิเศษหรือไม่เอาตังค์เลยก็ได้ น้องจะรู้สึกมีความสุขมากในการทำงาน วิชาชีพเราเป็นวิชาชีพที่ชาวบ้านให้การเคารพนับถือมากอยู่แล้ว เราต้องช่วยกันรักษาภาพพจน์ที่ดีให้กับวิชาชีพของเรา                 

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>