ตรวจ OPD น่าเบื่อจริงหรือ

จะว่าไปแล้วน้องคงเคยได้ยินคำกล่าวนี้มาบ้างว่า หมอชุมชนไม่เห็นมีอะไรเลย วันๆก็เอาแต่ตรวจ OPD ไป มีแต่ case URI, Diarrhea. น่าเบื่อออกจะตายไป งานหลักของหมอที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนอย่างหนึ่งก็คือ การออกตรวจคนไข้ OPD หรือการตรวจผู้ป่วยนอก เวลาส่วนใหญ่น้องจะใช้ไปกับการตรวจคนไข้ทั้งเช้าและบ่ายที่ OPD อาจจะมีบางครั้งต้องไป Round Ward บ้าง ไปดูห้องคลอดบ้าง แต่น้องจะใช้เวลาไปที่ OPD มากที่สุด ดังนั้นถ้าน้องไม่มีความสุขกับการตรวจคนไข้ที่ OPD แล้ว ก็จะส่งผลให้น้องเบื่อการทำงานในรพช.ในที่สุด

คนไข้ OPD ส่วนใหญ่ในรพช. จะมีค่อนข้างมาก เพราะการสาธารณสุขยังไปไม่ทั่วถึง และหมอมีน้อย จึงไม่น่าแปลกที่น้องจะได้ยินการบ่นว่าคนไข้ล้น OPD เป็นประจำในโรงพยาบาลจำนวนมากในชนบท OPD ในโรงพยาบาลชุมชน จะเป็น OPD รวมนั่นคือ ไม่มีการแยกประเภทของคนไข้ไปตามแผนกต่างๆในเหมือนเช่นในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือในโรงเรียนแพทย์ ดังนั้น คนไข้ที่เข้ามาตรวจกับน้องจะมีทุกประเภท ทั้งสูติ ศัลย์ Med เด็ก คละๆกันไป บางทีอาจจะมี Case Eye, ENT หรือมี case ER, Trauma เข้ามาด้วย ถ้า OPD กับ ER อยู่ใกล้ๆกัน          

ปกติแล้วน้องจะมีห้องตรวจของตัวเอง ซึ่งมักจะมีโต๊ะเล็กๆ 1 ตัว มีไฟฉาย ไม้กดลิ้น และเครื่องมือตรวจอื่นๆที่จำเป็น และคนไข้จะเข้าห้องน้องทีละ 1คน พร้อมกับยื่น OPD Card ให้น้อง น้องตรวจคนไข้เสร็จ สามารถสั่งยาได้เลย หรืออาจจะสั่งให้คนไข้ไปตรวจเลือด หรือตรวจปัสสาวะ หรือไปเอกซ์เรย์ก่อนก็ได้ แล้วไปรอเอาผลมาให้น้องดูก็ได้ คนไข้คนอื่นสามารถเข้ามาต่อได้เลย ทำให้คนไข้ flow ได้เร็วขึ้น วันๆหนึ่งคนไข้ที่ OPD จะมีมากในช่วงเช้า และจะน้อยลงในช่วงบ่าย จำนวนคนไข้ในแต่ละวัน ก็แล้วแต่ในแต่ละโรงพยาบาล บางโรงมีคนไข้ถึงวันละ 250-300 คนก็มี บางโรงมีคนไข้เพียง 100-150 คนต่อวันก็มี การที่มีคนไข้มากๆบางครั้งทำให้คุณภาพในการดูแลคนไข้ลดลง แพทย์จะมีเวลาให้กับคนไข้น้อยลง ก็นับว่าเป็นปัญหาอันสืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุ ลองคิดดูก็ได้ ปกติหมอชุมชนจะตรวจคนไข้ในตอนเช้าได้ประมาณ 60-70 คน/3ชม.ดังนั้นคนหนึ่งจะใช้เวลาเพียงประมาณ 3 นาทีเท่านั้น น้องไปอยู่ในโรงพยาบาลชุมชนใหม่ๆอาจจะตรวจคนไข้ได้ช้า และอาจแปลกใจว่าทำไมพี่ๆเขาตรวจกันได้เร็วอย่างนี้ บางทีแค่มองหน้าคนไข้ พูด 2-3 คำ ตรวจนิดหน่อย ยังไม่ทันทำอะไรก็สั่งยาได้แล้ว ของเหล่านี้ต้องคิดดีๆนะน้อง การที่เราเรียนจากโรงเรียนแพทย์มาว่าต้อง complete history และ full physical examination เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว แต่ในบางสถานการณ์ ประสบการณ์จะช่วยน้องได้มาก โดยที่ไม่ทำให้คุณภาพในการดูแลคนไข้ลดลง คนไข้บางคนหรือในบางสถานการณ์ ก็สามารถเร็วได้ แต่บางอย่างถ้าต้องช้า ต้องซักมากๆก็ต้องทำ ขอให้น้องยึดหลักไว้ว่ามาตราฐานในการประกอบวิชาชีพ เป็นสิ่งที่ต้องยึดถือไว้ เราอาจจะตรวจเร็วได้ แต่เราต้องมั่นใจ และแน่ใจมากพอ ไม่ใช่ว่าขี้เกียจตรวจ เลยตรวจเร็วๆให้มันเสร็จๆ อย่างนั้นใช้ไม่ได้ เมื่อน้องมีประสบการณ์ในการตรวจคนไข้ไปสักพัก น้องจะตรวจคนไข้ได้เร็วขึ้นเอง

การใช้ Lab หรือ Investigation ก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการตรวจ OPD น้องควรจะเลือกใช้ Investigation อย่างเหมาะสม ที่สามารถจะช่วยในการวินิจฉัยหรือรักษาคนไข้ เพราะการที่น้องสั่ง investigation อะไรลงไป อย่างน้อยๆก็ทำให้คนไข้เสียเวลามากขึ้น เพิ่มงานให้เจ้าหน้าที่ห้อง Lab ของเราอีก เราควรจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับสิ่งที่เราเสียไป ถ้าจำเป็นสั่งก็สั่งไปเลยไม่ต้องกังวล ถ้าน้องเลือกใช้ได้ถูกต้องจะช่วยให้น้องตรวจคนไข้ได้ดีและเร็วขึ้นได้ เช่นถ้าคนไข้ผู้หญิงวัยกลางคนเข้ามาด้วยอาการปัสสาวะแสบขัด ขุ่น ไม่มีไข้ เห็นแค่นี้น้องอาจจะบอกให้คนไข้ไปตรวจ UA เลยก็ได้ แล้วรอผลเอามาให้น้องดูว่าเป็น cystitis หรือไม่ โดยอาจจะยังไม่ต้องซักหรือตรวจร่างกายอะไรเพิ่มก็ได้ พอสั่งเสร็จก็ให้คนต่อไปเข้ามาเลยก็ได้ แล้วค่อยมาตรวจอย่างละเอียดตอนที่ได้ผล UA แล้วก็ได้ ในบางโรงพยาบาลเมื่อซักประวัติแล้ว พยาบาลสามารถสั่ง investigation แทนหมอได้เลยในอาการบางอย่าง เช่นถ้ามาด้วยอาการของ TB อาจสั่ง Film chest ให้เราเลย หรือถ้าสงสัย Fracture เขาอาจจะ film ให้เราเลยก็ได้ ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ว่าจะให้พยาบาลสามารถสั่ง investigation แทนหมอได้หรือไม่

พี่ลืมเล่าไปอย่างหนึ่งว่า เมื่อน้องตรวจ OPD จะมีพยาบาล OPD จะทำหน้าที่ Screen คนไข้ก่อน โดยจะทำหน้าที่ซักประวัติคร่าวๆ และวัด Vital signs และเรียกเข้าพบหมอ ประวัติของคนไข้ก็จะอยู่ใน OPD card แล้ว น้องอาจซักเพิ่มบางอย่าง ทำให้ไม่ต้องมาซักประวัติเองทั้งหมด นอกจากนี้พยาบาลที่  OPD ยังช่วยหมอ อีกหลายอย่าง เช่นเข้ามาช่วยจัดท่าตรวจคนไข้ในกรณีพิเศษ เช่น PR, ตรวจท้อง หรือ ช่วยเตรียมคนไข้ PV เป็นต้น และยังช่วยหมอในการเตรียมใบ Refer เตรียมใบรับรองแพทย์ ให้หมอเขียน ในบางครั้งน้องอาจจะได้กาแฟร้อนๆหรือ น้ำเย็นๆจากพี่ๆพยาบาลด้วยอีกต่างหาก

แม้ว่า Case OPD ส่วนใหญ่จะเป็น case ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรก็ตาม แต่ก็อาจมี case แปลกๆ ซึ่งน่าสนใจเข้ามาบ้าง ข้อสำคัญคือน้องต้องพยายาม detect ให้ได้ว่า case ไหนเป็น case หนัก หรือพิเศษ ต้องการการดูแลรักษาเป็นพิเศษเพื่อที่น้องจะให้ความใส่ใจ และอาจส่ง investigation เพิ่มหรือต้อง Refer ไปรักษาต่อไป ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นคนไข้ที่มาด้วยวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย เป็นลม จะเป็นคนไข้ที่พบมากในโรงพยาบาลชุมชน น้องจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น แค่ Dizziness ธรรมดา หรือเป็น manifestation ของพวก Cerebellar tumour เพราะการรักษาต่างกันมาก น้องก็ต้องมี Trick เล็กน้อยในการแยก ไม่ใช่เห็นใน OPD card ว่าคนไข้มาด้วยตาลาย บ้านหมุน ยังไม่ทันตรวจร่างกาย หรือซักอะไรเพิ่มเลย ก็สั่ง Dimen, B complex ให้ไปกันแล้ว แม้จะตรวจได้เร็วมาก แต่ถ้า miss ไปจะเป็นผลเสียมาก

เคยมีแพทย์อาวุโสท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า ในโรงพยาบาลชนบท สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การรู้ Diagnosis ของคนไข้ แต่ต้องรู้ Prognosis นั่นคือเราควรจะแยกให้ได้ว่าคนไข้คนไหนไม่เป็นไรมาก สามารถให้ยาไปกินก่อนได้ คนไข้คนไหนต้องตรวจพิเศษ คนไข้คนไหนต้องนัดมาดูอีกสักวันสองวัน คนไข้คนไหนต้อง Refer ทันที คนไข้คนไหนแค่เขียนใบ Refer ไป และให้คนไข้ไปเองทีหลังก็ได้ ถ้าแพทย์เก่งในการแยกแยะคนไข้จะช่วยให้ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้นมาก  เช่นคนไข้กระดูกหัก ถ้าเรารู้ว่ากระดูกหักแบบไหนที่สามารถใส่เฝือกได้ แบบไหนต้องผ่าตัด ก็นับว่ามีประโยชน์มากแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรู้ถึงขนาดว่าผ่าอย่างไร ใส่ Plate หรือ screw แบบไหน แค่รู้ว่าต้อง Refer ก็เพียงพอแล้ว

 

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>