การชันสูตรพลิกศพ

 ลองนึกย้อนกลับไปในสมัยที่น้องยังไม่ได้เข้าเรียนแพทย์ น้องคงไม่ได้คิดว่า หน้าที่หนึ่งของหมอคือการตรวจศพคนตายแน่เลย เพราะโดยทั่วไปแล้วเราจะเข้าใจกันว่าหมอมีหน้าที่รักษาคน แต่ตอนนี้น้องคงเข้าใจและต้องยอมรับไปโดยปริยายว่าเป็นหน้าที่ของหมอเหมือนกันในการตรวจศพคนตายด้วย   เรื่องราวในหลักวิชาการน้องคงเคยได้เรียนมาแล้วในวิชานิติเวช แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์ของเรา มีชั่วโมงและหน่วยกิตที่ให้ในวิชานิติเวชวิทยาค่อนข้างน้อย ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเราต้องใช้ความรู้ของวิชานี้ไม่ใช่น้อยเลยทีเดียวโดยเฉพาะแพทย์ในชนบท

           ศพที่น้องจำเป็นต้องชันสูตรพลิกศพคือ การตายที่ผิดธรรมชาติ และการตายโดยอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยการตายที่ผิดธรรมชาตินั้นมี 5 ชนิดคือ การตายเนื่องจากการฆ่าตัวตาย การถูกผู้อื่นฆ่า ตายจากอุบัติเหตุ ตายจากถูกสัตว์ขบกัด และการตายโดยไม่ปรากฏเหตุ การตายในลักษณะดังกล่าวหมอต้องชันสูตรพลิกศพ ดังนั้นน้องจึงมีโอกาสที่จะต้องชันสูตรอยู่บ่อยๆ โดยทั่วไปแล้วหลักการชันสูตรเบื้องต้น คือต้องการบอกให้ได้ว่า ผู้ตายคือใคร สาเหตุการตาย พฤติการณ์การตาย เวลาที่ตาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หมอไม่สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมดหรอก โดยเฉพาะหมอในโรงพยาบาลชุมชน ที่ไม่ได้เป็นหมอเฉพาะทางนิติเวช   

           โดยปกติแล้วเมื่อมีการนำศพมาที่โรงพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้นำศพมา น้องควรจะถามรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับศพไว้ให้ได้มากที่สุดก่อน โดยถามคร่าวๆว่าเป็นอะไรตาย ผู้อยู่ในเหตุการณ์ โรคประจำตัว รูปการณ์ของคดี โดยถ้ายิ่งเป็นการตายโดยไม่ปรากฏเหตุ หรือรูปคดีซับซ้อน จำเป็นต้องถามข้อมูลให้ละเอียด อีกประเด็นหนึ่งที่น้องจำเป็นต้องถามเสมอคือ ญาติๆของผู้ตายมีใครติดใจเอาเรื่องหรือไม่ เพราะจะเกี่ยวพันในการฟ้องร้องคดีต่อไป หลังจากได้รายละเอียดจนพอใจแล้ว น้องคงต้องบอกพี่พยาบาลให้มาช่วยน้องชันสูตร โดยต้องเตรียมถุงมือหลายๆคู่ Mask ปิดจมูก, NG tube, syringe แก้ว, ถุงพลาสติก กระดาษและปากกา โดยน้องควรจะบรรยายลักษณะโดยทั่วไปของศพก่อน แล้วค่อยๆลงรายละเอียด ถ้าคิดว่าบาดแผลไหนใหญ่ และเป็นสาเหตุการตายต้องลงให้ละเอียด และต้องตรวจดูศพให้ทั่วทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ถ้าเป็นกรณีศพเป็นผู้หญิงอาจต้องตรวจอวัยวะเพศหาร่องรอยการทำผิดทางเพศด้วย

              ถ้าเป็นกรณีตายจากอุบัติเหตุ มักไม่ยุ่งยากซับซ้อนนัก การลงบาดแผลอย่างละเอียดเป็นสิ่งสำคัญ พยายามเพ่งเล็กไปที่บาดแผลใหญ่ๆ อวัยวะที่สำคัญ ความกระทบกระเทือนต่ออวัยวะภายใน น้องสามารถที่จะ X ray ศพดูได้ ถ้าสงสัยกระดูกหัก หรือหากระสุนปืนก็ได้ เวลาชันสูตรน้องอาจจะไม่มีมือว่างในการลงบันทึกเพราะกำลังใส่ถุงมือและกำลังตรวจอยู่ อาจพูดให้พี่พยาบาลเขียนตามคำที่น้องบอกก็ได้ เมื่อน้องชันสูตรเสร็จแล้วและเสร็จสิ้นขบวนการทางตำรวจแล้ว ก็มักจะอนุญาตให้ญาติรับศพไปได้เลย หลังจากนั้นพยาบาลจะเป็นคนเก็บบันทึกต่างๆไว้ให้ โดยปกติจะเก็บไว้ใน OPD card ส่วนใบชันสูตรจากตำรวจจะตามมาทีหลัง น้องค่อยเขียนทีหลังก็ได้ แต่ต้องลงบันทึกให้ดีใน OPD card ก่อน เวลามาเขียนใบชันสูตรจะได้ไม่สับสน

              สำหรับใบชันสูตร ในส่วนที่ให้แพทย์เขียนจะมี 2 ตอนด้วยกันคือ ตอนแรกจะเป็นการบรรยายสภาพศพโดยทั่วไป น้องก็ใช้หลักการเดิมนะ ว่าเห็นอะไรก็เขียนไปอย่างนั้น ไม่ต้องมีการเติมแต่งเข้าไปเอง ไม่ต้องสันนิษฐานอะไร เห็นแผลอย่างไรก็เขียนไป และไม่ต้องเอาคำบอกเล่าของญาติหรือของตำรวจมาเขียนหรอก เขียนแต่สภาพศพตามความเป็นจริง อย่าลืมนะว่าเรามีหน้าที่ตรวจแต่ตัวศพ และให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพศพ ไม่ต้องบรรยายในสิ่งอื่นที่เราไม่ได้เห็นหรือไม่ได้ตรวจ อาจเขียนผล X ray หรือผลตรวจต่างๆได้ แต่ถ้าไม่ได้ตรวจก็ไม่ต้องพยายามเขียน เช่นเราคลำกระดูกหน้าแล้วคาดว่าไม่หัก แต่ไม่ได้ X ray เราก็เขียนเพียงว่าคลำกระดูกใบหน้า ไม่พบรอยหักของกระดูกก็พอ เห็นไหมว่าเราเขียนบอกว่าคลำไม่พบเท่านั้นนะ เราไม่ได้ยืนยันว่ากระดูกหน้าไม่หัก เขียนเท่าที่เขียนได้

             สำหรับในส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่ให้หมอเขียนแสดงสาเหตุการตายเท่าที่สามารถทำได้ หลักการก็มีอยู่ง่ายๆว่า ควรใชัคำว่าสันนิษฐานหรือคาดว่าเข้าช่วย หรือถ้าเราไม่รู้สาเหตุจริงๆก็อย่ากลัวที่จะเขียนว่าไม่รู้ เช่นถ้าเป็นศพอุบัติเหตุแล้วกระโหลกยุบเห็นเนื้อสมองเลย หมอมักจะเขียนสาเหตุการตายได้ไม่ยากนักคือ สันนิษฐานว่าศีรษะและสมองได้รับการกระแทกจากของแข็งไม่มีคมอย่างรุนแรง จนทำให้ได้รับความกระทบกระเทือนมาก เป็นเหตุให้เสียชีวิต อย่าลืมการใช้คำว่าสันนิษฐาน ถ้าในรายที่น้องไม่แน่ใจว่าตายจากอะไร ควรจะแนะนำหรือคุยกับตำรวจก่อนว่าโดยการตรวจภายนอกแค่นี้เราบอกอะไรไม่ได้ น่าจะต้องส่งศพไปตรวจต่อ โดยปกติจะต้องส่งไปตรวจที่สถาบันนิติเวชที่กรุงเทพฯ ต้องคุยกับตำรวจก่อน ที่จะคืนศพญาตินะ ไม่ใช่ว่าเพิ่งนึกได้ตอนจะเขียนใบชันสูตร ป่านนั้นศพถูกเผาถูกฝังไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้ ถ้าเราคิดว่าลงความเห็นไม่ได้ ก็ควรเขียนว่า ไม่สามารถบอกสาเหตุการตายได้ชัดเจนจากการตรวจศพภายนอก ได้แนะนำให้พนักงานสอบสวนส่งศพไปผ่าพิสูจน์ต่อที่สถาบันนิติเวช การเขียนแบบนี้จะช่วยป้องกันตัวน้องเองได้เป็นอย่างดี ไม่รู้ก็เขียนว่าไม่รู้ อย่าพยายามเดาโดยไม่มีหลักวิชา ใบชันสูตรเป็นหลักฐานสำคัญอีกอย่างนะ น้องอาจจะต้องไปขึ้นศาลเป็นพยานในคดีนี้ก็ได้ ดังนั้นการจะเขียนอะไรลงไปก็ตาม ขอให้รอบคอบเสมอ อย่าเขียนอะไรที่ผูกมัดตัวเอง จำไว้ว่า เขียนในสิ่งที่เห็น สันนิษฐานเท่าที่ทำได้ และไม่รู้ก็อย่าลังเลที่จะบอกว่าไม่รู้

** ขอให้ตรวจสอบข้อมูลกฎหมายในปัจจุบัน เนื่องจากมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายบางส่วนหลังจากปี 2543 ที่ผู้เขียนใด้เขียนบทความนี้ขึ้น

 

Leave a Reply

 

 

 

You can use these HTML tags

<a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <strike> <strong>