เมื่อน้องมาอยู่รพช.ใหม่ๆ บางครั้งคงเคยได้ยินพี่ๆพูดกันเรื่องการออกหน่วยประจำเดือน ว่าออกที่ไหนเมื่อไร การออกหน่วยเป็นคำที่รู้กันในหมู่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ซึ่งหมายถึงการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปรักษาพยาบาลประชาชนในที่ห่างไกล โดยปกติแล้วโรงพยาบาลเราจะได้รับมอบหมายให้ออกหน่วยประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งชื่อของหน่วยจะมีหลายอย่างแล้วแต่หน่วยงานต้นสังกัด เช่นหน่วย พอ.สว. หน่วยนสค. หน่วยของอำเภอ หน่วยอาสาสมัคร ฯลฯ ซึ่งคงต้องค่อยๆเรียนรู้กันว่าแต่ละหน่วยคืออะไรและแตกต่างกันอย่างไร แต่โดยรวมๆแล้วลักษณะจะเหมือนกันทุกหน่วย คือทางโรงพยาบาลต้องจัดหาเจ้าหน้าที่บุคคลากร โดยทั่วไปจะมีแพทย์ 1 คน พยาบาล2-3คน เภสัช1คน ทันตแพทย์หรือทันตาภิบาล 1 คน และต้องมียาและเวชภัณฑ์เตรียมไปจ่ายแจกให้ชาวบ้าน
ถ้าน้องยังไม่เคยไปออกหน่วยเลย แต่ได้รับมอบหมายให้ไปออกหน่วย น้องควรจะถามพี่ๆที่ไปด้วยหรือพี่ๆหมอก่อน อย่างน้อยๆควรจะรู้ว่าไปออกหน่วยที่ไหน ไปไกลไหม นั่งรถอะไรไป ออกจากโรงพยาบาลกี่โมง มียาอะไรไปบ้าง กลับกี่โมง เรื่องอาหารการกิน ถ้าน้องเคยได้ไปออกสักครั้งแล้ว คงจะได้ Idea มากเลย ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรจะต้องรู้ไว้ก่อนออกหน่วย พี่จะยกตัวอย่างให้ฟังนะ
สถานที่ออกหน่วย เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะน้องจะได้เตรียมตัวเตรียมใจก่อน เพราะบางหน่วย เราต้องไปออกในสถานที่ทุรกันดารมาก ทางรถไปเป็นหลุมเป็นบ่อตลอด อาจจะต้องนั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อไป โดยต้องนั่งโยกเยกไปตลอดทางก็มี น่าจะถามดูว่าใช้เวลาเดินทางกี่ชม. ถนนเป็นอย่างไร หรือบางที่อาจจะต้องนั่งเรือไปก็มี การไปออกหน่วยในสภาพพื้นที่จริงจะทำให้เราเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านจริงๆว่า อยู่กันอย่างไร ทำงานอะไร การคมนาคมลำบากไหม เพราะบางทีหมอเรามักจะก็บ่นว่าคนไข้นะ ว่าทำไมนัดแล้วไม่มา หายไปไหนตั้งนาน นัดมาทำแผลทุกวันไปทำที่ไหนมา หรือไปหาหมอชาวบ้านทำไม พอหมอได้ออกมาหาชาวบ้านเองจะได้รู้สภาพความเป็นจริงของชาวบ้านบ้าง เวลาพี่ไปออกหน่วยทีไรมักจะสงสารชาวบ้านมาก ขนาดเรามีรถไปยังกันดารขนาดนี้ แล้วถ้าคนไม่มีรถล่ะ กลางค่ำกลางคืนจะให้เขาทำอย่างไร เวลานัดมา Follow up ต้องคิดดูดีๆ เพราะบางครั้งนัดถี่เกินไปคนไข้ก็ลำบาก
เรื่องยาและเวชภัณฑ์ที่เตรียมไปก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันที่เราต้องรู้ไว้ เพราะยาที่เรานำไปออกหน่วยจะมีเพียงไม่กี่รายการ ส่วนใหญ่จะเป็นยาพื้นๆ ไม่มียาฉีดเลย คนไข้ส่วนใหญ่ที่มามักจะเป็นโรคง่ายๆซะส่วนใหญ่ บางทีก็ไม่ได้เป็นอะไรมาขอยาก็มี ซึ่งบางครั้งหมอจะรู้สึกรำคาญ เวลาไปออกหน่วยเจอคนไข้เข้าคิวมากรักษาเป็นร้อยคน แต่เอาเข้าจริงๆไม่เห็นเป็นอะไรเลย บางทีมาขอยานั่นยานี่ ปวดเมื่อยก็มาขอ ขอยาโรคกระเพาะ ฯลฯ พวกเราเลยมักจะตรวจอย่างรวดเร็ว จ่ายยาเป็นส่วนมาก แต่ต้องระวังบางครั้งเจอคนไข้มีปัญหาก็มี ถ้าอาการหนักหรือต้องการการดูแลรักษาน้องอาจจะแนะนำให้มาโรงพยาบาล หรือถ้าหนักมาก อาจให้นั่งรถโรงพยาบาลกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลก็ได้ น้องควรจะรู้ว่าการออกหน่วยครั้งนี้มียาอะไรบ้างจะใช้ได้ถูก เพราะบางครั้งยาจะมีน้อยมาก น้องอาจจะอึดอัดได้ เช่น NSAIDs มีแต่ Indomethacin ไม่มียาอื่นเลย หรือ antibiotic มีแต่ Amoxy, PenV แค่นั้นเอง และบางครั้งแจกหมดแล้ว ไม่มียาอีกต่างหาก ต้องระวังเหมือนกันนะ ยาทุกอย่างที่นำมาให้เป็นการบริการฟรี ไม่คิดตังค์ใดๆทั้งสิ้น พวกเราควรจะถือว่ามาทำบุญ จะได้รู้สึกดีเวลามาออกหน่วย
เรื่องอาหารการกินมักจะไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่จะมีชาวบ้านมาทำอาหารเลี้ยงเอง หรือไม่ทางโรงพยาบาลก็จะเตรียมข้าวกล่องนำไปเอง เวลาในการออกหน่วยส่วนใหญ่จะออกตอนเช้า ประมาณเที่ยงก็เสร็จ กินข้าวเที่ยงเสร็จก็กลับได้ แต่ในบางแห่ง บางโรงพยาบาลอาจมีการออกหน่วยตอนเย็น เนื่องจากชาวบ้านออกไปทำงานหมด ต้องรอให้ชาวบ้านกลับจากทำงานตอนเย็นก่อน ถึงจะมีคนมาหา บางทีออกจากโรงพยาบาลตอน4โมงเย็น กว่าจะออกหน่วยอะไรเรียบร้อยก็ปาไป 4-5 ทุ่มก็มี อาจจะเหนื่อยหน่อยนะ แต่ถ้าคิดว่าได้ทำบุญก็จะสบายใจเอง
เรื่องการออกหน่วยเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของหมอชนบทซึ่งต้องออกไปให้บริการชาวบ้านในพื้นที่ ได้รับทราบปัญหา ได้เห็นความเป็นอยู่จริงๆ พี่ว่าจริงๆนะ หมอในเมือง ในตัวจังหวัด หรือแม้แต่ในกรุงเทพเอง ก็น่าจะมาออกหน่วยบ้างนะ จะได้เห็นใจและเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น และจะเข้าใจและเห็นใจการทำงานของแพทย์ชนบทด้วย ในทางกลับกัน หมอในชนบทเองก็น่าจะได้มีโอกาสไปเรียนรู้งานในโรงพยาบาลใหญ่ๆหรือโรงพยาบาลศูนย์ที่รับ Refer บ้าง ว่าคนไข้เยอะมากน้อยขนาดไหน Refer มาแต่ละcase มีแต่ Case ยุ่งๆและยากๆจริงไหม หรือ Refer มาไม่ได้เรื่องเลย แค่นี้ต้อง Refer ด้วยหรือ จะได้เห็นใจและเข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย และถ้าทุกฝ่ายเข้าใจกันได้ก็จะเป็นการดีมาก